วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการติดตั้งและดูแลรักษาแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก

            ปัจจุบันพลาสติกมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันมาก ดังนั้นการผลิตพลาสติกให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ต้องอาศัยการผลิตที่รวดเร็วและมีคุณภาพสูง อุปกรณ์ที่มีความสำคัญที่สุด คือ แม่พิมพ์(Molud) และเครื่องฉีด(Injection Machine) ในที่นี้จะขอแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการติดตั้งและการดูแลรักษาแม่พิมพ์ สำหรับโรงงานฉีดพลาสติกที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ


blow mould



โดยทั่วไปแม่พิมพ์ฉีดแต่ละตัวจะถูกออกแบบมาให้ใช้กับเครื่องฉีดพลาสติกเฉพาะรุ่น ถ้านำแม่พิมพ์ไปใช้กับเครื่องฉีดพลาสติกที่ไม่ตรงกับที่ออกแบบมา อาจทำให้มีผลกระทบและผลเสียต่อแม่พิมพ์และเครื่องฉีดพลาสติกตลอดจนชิ้นงานพลาสติกที่ฉีดออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น 
  • นำแม่พิมพ์เข้าเครื่องไม่ได้
  • หัวฉีดกับ Sprue Bush ไม่แนบสนิททำให้ไม่สามารถฉีดได้
  • Locating Ring อาจจะเข้ากับเครื่องไม่ได้
  • ตำแหน่งของรูยึดแม่พิมพ์อาจไม่ตรงรูหรือไม่สามารถยึดเข้ากับเครื่องได้ 
  •  เครื่องอาจจะมีแรงฉีดไม่พอทำให้คุณภาพของพลาสติกออกมาไม่ดี
 .
ดังนั้น การเลือกใช้เครื่องฉีดให้เหมาะสมกับแม่พิมพ์หรือการออกแบบแม่พิมพ์และเครื่องจักรที่มีอยู่ จึงมีความจำเป็นและสำคัญ ในกรณีต่อไปนี้ จะเป็นการนำแม่พิมพ์มาทำการติดตั้งกับเครื่องฉีดรุ่นที่ได้ทำการออกแบบให้เหมาะสมกันแล้ว โดยมีขั้นตอนดังนี้
  .
1. การยึดแม่พิมพ์เข้ากับหน้าแปลนเครื่องฉีด ที่นิยมใช้กันทั่วไปมี วิธี คือ
1.1 วิธีขันเกลียวยึดโดยตรง กรณีนี้ผู้ออกแบบจะออกแบบรูเจาะที่แผ่นยึดแม่พิมพ์ให้ได้ระยะ และขนาดตรงกับรูเกลียวที่ใช้ยึดแม่พิมพ์บนแผ่นหน้าแปลนของเครื่องฉีด จากนั้นจึงใช้สกรูขันยึดเข้ากับหน้าแปลนของเครื่องฉีดโดยตรง วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องและดีที่สุด
 .
1.2 วิธีขันเกลียวยึดทางอ้อม ในการออกแบบวิธีนี้ การยึดแม่พิมพ์เข้ากับเครื่องฉีดโดยอัดแผ่นกด (Clamp Plate) จะใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้วิธีขันเกลียวโดยตรงได้ เช่น ในกรณีที่ตำแหน่งของรูยึดเกลียวในแผ่นหน้าแปลนยึด ไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเจาะรูบนแผ่นแม่พิมพ์ ซึ่งอาจมีฐานโตกว่าหรือเล็กกว่า โดยทั่วไปวิธีขันเกลียวยึดทางอ้อมจะประกอบด้วยชิ้นส่วน ชิ้น คือ แผ่นกดหมอนรองและสกรู
 .
ทั้ง วิธีข้างต้นนี้ ควรใช้ระดับน้ำตั้งระดับแม่พิมพ์ ให้ได้ระดับเสียก่อน แล้วจึงทำการยึดสกรู หรือ แผ่นกด (Clamp Plate) ให้แน่นกับหน้าแปลนยึดของเครื่องฉีด 
 .
2. การติดตั้งแม่พิมพ์เข้ากับหน้าแปลนของเครื่องฉีด เมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ให้เปิดแม่พิมพ์ออกโดยการเคลื่อนหน้าแปลนของเครื่องฉีดออกช้าๆ ให้ระยะของแม่พิมพ์ที่เปิดมากพอที่จะทำความสะอาดได้สะดวก 
 .
3. หยอดน้ำมันหรือทาจาระบี เล็กน้อยบริเวณ Guide Pin และ Guide Bush ทุกตัวและชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่เสียดสีกัน เพื่อเป็นการหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ 
 .
4. ตั้งระยะเปิดแม่พิมพ์ โดยทำการเคลื่อนหน้าแปลนของเครื่องฉีดออกช้า ๆ แล้วค่อยปรับระยะแม่พิมพ์เปิดสุด (Mould Opening) จนได้ระยะตามต้องการหรือสุดระยะเปิดสุด ระวังอย่าเปิดด้วยความเร็วจนเกิดการกระชากอย่างรุนแรงอาจทำให้แม่พิมพ์เสียหายได้ และถ้าเป็นแม่พิมพ์ที่มีการกระทุ้งให้ชิ้นงานตก จะต้องตั้งระยะกระทุ้งชิ้นงานที่แผ่นดันปลด (Ejector Plate) เพิ่มทีละน้อยจนชิ้นงานตกหรือจนสุดระยะดันปลดของแม่พิมพ์ 
 .
5. ทำความสะอาดด้วยสารกันสนิม โดยปกติแม่พิมพ์ที่ส่งมอบมาจะมีการพ่นน้ำยากันสนิมไว้ เราต้องใช้ผ้าสะอาดชุบทินเนอร์หรือแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด บริเวณเบ้า(Cavity)และคอร์(Core) จนสะอาดเสียก่อน 
 .
6. เริ่มทำการฉีดพลาสติก โดยเริ่มจากการฉีด Short Shot ก่อน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มจนชิ้นงานพลาสติกเข้าเต็มและได้ชิ้นงานที่เหมาะสม ในขั้นตอนการฉีด Short Shot อาจมีเศษพลาสติกค้างอยู่ต้องเช็คดูให้ดี ถ้ามีให้เอาออกให้หมดก่อนจะทำการฉีดในครั้งต่อไป หากมีเศษพลาสติกติดค้างแน่นให้ใช้ทองแดงหรืออะลูมิเนียมชนิดรีดงัดเอาออก ห้ามใช้ เหล็กทองเหลือง หรือ วัสดุอื่น ๆ ที่มีความแข็งกว่าทองแดงหรืออะลูมิเนียมมางัดเด็ดขาด เพราะจะทำให้แม่พิมพ์เสียหายได้ 
  .
 7. ขณะทำการผลิต หากต้องการหยุดเครื่องเป็นเวลานานกว่า 10 นาที จะต้องปิดน้ำหล่อเย็น (Cooling) ที่เข้าในแม่พิมพ์ทั้งหมด เพื่อป้องกันการเกิดสนิมขึ้นที่แม่พิมพ์ โดยเฉพาะในส่วน Cavity และ Core 
  .
การปฏิบัติหลังจากแม่พิมพ์หยุดการผลิต
1. ก่อนหยุดการผลิตจะต้องปิดน้ำหล่อเย็นของแม่พิมพ์ทั้งหมด แล้วทำการฉีดต่อไปอีกประมาณ 10 Shots เพื่อไล่ความชื้นออกจากแม่พิมพ์ 
  .
2. เปิดแม่พิมพ์ออกใช้น้ำยากันสนิมพ่น (ควรใช้ชนิดที่เป็น Spray) ในส่วน Cavity และ Core และส่วนอื่น ๆ ที่จะป้องกันสนิม จากนั้นถอนสายน้ำออกจากแม่พิมพ์ แล้วจึงทำการยกลงจากเครื่องฉีด
 .
3. ไล่น้ำหล่อเย็นออกจากแม่พิมพ์ โดยใช้ลมเป่าเข้าไปในรูน้ำหล่อเย็นแต่ละ Plate ที่มีระบบน้ำหล่อเย็นจนน้ำแห้ง จะช่วยลดการอุดตันของรูน้ำหล่อเย็นได้
  .
4. ทำการขัดสนิมบริเวณที่เห็นว่าเกิดสนิมที่ตัวแม่พิมพ์ ด้วยกระดาษทราย No. 400 และ ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาด พ่นน้ำยากันสนิมโดยรอบก่อนนำไปเก็บ
  .
5. หากแม่พิมพ์ไม่ได้ทำการผลิตเป็นเวลานาน ควรนำแม่พิมพ์มาเปิดดูภายใน Cavity และ Core อย่างน้อยเดือนละ ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดสนิม และน้ำยากันสนิมที่อาจหมดอายุการใช้งาน
  .
6. เมื่อทำการผลิตครบทุก 400,000 Shots หรือตามกำหนดเวลาที่ต้องส่งแม่พิมพ์กลับไปล้าง (Overhaul) เพื่อเช็คสภาพและทำการซ่อมบำรุง(Maintenance) ในส่วนต่าง ๆ ของแม่พิมพ์ 
  .
การบำรุงรักษาแม่พิมพ์หลังการใช้งาน
การ Overhaul แต่ละครั้งต้องเสียเวลาพอสมควร ซึ่งต้องหยุดการผลิตสินค้านั้นๆแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพราะถ้าเราไม่ยอมเสียเวลาตรงนี้ อาจจะทำให้แม่พิมพ์เกิดความเสียหายมากกว่านี้และต้องเสียเวลาในการนำแม่พิมพ์กลับไปซ่อมเป็นระยะเวลานานกว่าการหยุดซ่อมบำรุงรักษาตามตารางกำหนด
 .
ดังนั้น การที่จะยืดอายุแม่พิมพ์ให้ใช้งานได้ยาวนานควรจะยึดหลักการ Preventive Maintenance (PM) คือ การบำรุงรักษาก่อนการเกิดเสียหาย ซึ่งช่างผู้ดูแลควรมีความรู้และความชำนาญพอสมควรในการถอดและประกอบแม่พิมพ์
  .
การถอดและการตรวจเช็คแม่พิมพ์
การถอด มีขั้นตอนดังนี้
  .
1. ก่อนถอดแม่พิมพ์ควรหาภาชนะ เช่น ลังพลาสติกสำหรับใส่อุปการณ์ต่าง ๆ ของแม่พิมพ์ ที่จะถอดแล้วเขียนหมายเลขแม่พิมพ์ติดข้างลังไว้เผื่อว่ามีแม่พิมพ์หลายตัว จะได้สะดวกมากขึ้นเมื่อถอดชิ้นส่วนแล้วนำใส่ลังไว้ให้หมดทุกชิ้น ควรระวังชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกควรระมัดระวังแยกออกต่างหาก หรือใช้ผ้าห่อใว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการกระแทกอาจทำให้เกิดความเสียหายได้
  .
2. เมื่อทำการเปิดแม่พิมพ์ออก ตรวจสอบดูว่ามีสิ่งสกปรกเศษพลาสติกตกค้างอยู่ในรูต่าง ๆฝุ่นผงสนิมหรือยังมีน้ำหล่อเย็นติดค้างอยู่หรือไม่
  .
3. เมื่อถอดชิ้นส่วนภายใน เช่น Core Bush, Cavity Bush ,Ejector Sleeve, Stripper Bush เป็นต้น ให้ทำความสะอาดคราบแก็ส,สนิมฝุ่นผงต่าง ๆ และต้องระมัดระวังขอบของงาน บริเวณที่เป็นเนื้องานให้มาก ๆ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้
  .
4. ตรวจสอบสภาพของชิ้นส่วนต่าง ๆ ว่ามีชิ้นไหนเกิดความเสียหายหรือไม่ ถ้าเสียหายให้แก้ไขหรือทำใหม่ก่อนนำไปใช้งานต่อไป
  .
5. ตรวจสอบ Spring ทุกตัวทุกขนาดว่ามีการแตกหักบ้างหรือไม่ในกรณีที่ Spring แตกหักอาจจะแค่ตัวเดียวก็ตามควรทำการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากคงหมดอายุการใช้งานหรือดูสภาพของ Spring ว่าถ้าใช้งานได้อีกไม่นานก็ควรเปลี่ยนใหม่
  .
6. ทำการขัดผิวใหม่(Repolishing)ในส่วนที่มีการขัดผิวละเอียด ตัวอย่างชิ้นงานที่จะชัดเช่น Cavity Bush, Core Bush, Out Core, Center Core เป็นต้น
  .
7. ตรวจสอบรู Gate ในกรณีที่เป็น Pinpoint Gate ว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ มีเศษฝุ่นผงติดค้างอยู่ในรู Gate หรือไม่
  .
8. ขัด Sprue Runner และ Runner ใหม่ทั้งหมด ให้มีความมันเพื่อให้พลาสติกไหลเข้าได้สะดวกขึ้น
  .
9. ตรวจสอบดูว่าระบบหล่อเย็น มีการอุดตันหรือไม่โดยการใช้ลมเป่าเข้าไปถ้าลมออกน้อยหรือเบาให้ ทำความสะอาดระบบหล่อเย็นทั้งหมด โดยการถอด Insert ออกจาก
Plate แล้วทะลวงรูน้ำที่ Plate, Core Bush, Cavity Bush หรือ Cooling Bush ทุกชิ้นส่วนที่มีระบบหล่อเย็นอยู่
 .
10. ตรวจสอบ O-ring หรือ V-ring ว่ายังมีสภาพดีอยู่หรือไม่
  .
11. ตรวจสอบ Guide Pin และ Guide Bush
มีรอยขีดข่วนหรือไม่
ระยะระหว่าง Guide Pin และ Guide Bush
ความตรงและความกลม
  .
12. ตรวจสอบ Air-vent ทุกๆจุด เช่น บริเวณ หน้า Parting Line, Taper, ปรกติถ้าเป็นพลาสติก PP จะมีร่อง Air-vent ประมาณ 0.01-0.015 มม.
  .
เมื่อเสร็จขั้นตอนของการทำความสะอาดและซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆเรียบร้อย ก็จะมาถึงขั้นตอนการประกอบกลับคืนมีขั้นตอนการตรวจเช็ค
  .
การตรวจเช็ค มีขั้นตอนดังนี้


1. เมื่อใส่ Insert ลงใน Plate ต้องทำการทดสอบน้ำทุกครั้ง เพื่อดูว่ามีน้ำรั่วหรือไม่
2. ใส่จาระบีที่ Guide Pin และ Guide Bush หรือบริเวณที่มีการเคลื่อนที่ เช่น Slide เป็นต้น
3. ตรวจสอบว่าใส่อุปกรณ์ครบหรือไม่หรือประกอบผิดหรือเปล่า โดยดูว่าอุปกรณ์ในลังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่และสุดท้ายควรใช้ Clamp บีบ แม่พิมพ์ให้ติดกันทุก Plate แล้วดูว่าแม่พิมพ์ปิดสนิทหรือไม่ เพียงเท่านี้คุณก็จะช่วยยืดอายุของแม่พิมพ์ของคุณได้เป็นอย่างดี
 .
สรุป
การติดตั้งแม่พิมพ์ฉีดบนเครื่องฉีดได้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้ระบบการทำงานของแม่พิมพ์ฉีดและเครื่องฉีด ทำให้สมรรถนะในการทำงานสูง ยิ่งถ้ามีการบำรุงรักษาแม่พิมพ์อย่างถูกวิธีทั้งก่อนและหลังการใช้งานด้วยแล้ว ช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงานและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างมาก 
**สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ห้ามลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง นอกจากจะได้รับอนุญาต
ประทวน ธรรมครบุรี 
n

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น